ในวันนี้ (3 ธันวาคม 2555) จะมีการจัดงานประชุม WCIT-12 ที่จัดโดย ITU เริ่มขึ้นวันนี้ (3 ธ.ค.) ที่ดูไบ ซึ่งที่หลายคนให้ความสนใจกับงานนี้ก็เพราะว่า งานนี้จะมีความสำคัญคือแก้ไข “กฎเกณฑ์กำกับดูแลอินเทอร์เน็ต” หรือที่เรียกย่อๆ ว่า ITR ทำให้หลายคนสงสัยว่า ITU คืออะไร? วันนี้มานาคอมพิวเตอร์จะหาคำตอบมาให้ครับ
ITU คืออะไร?
ITU เป็นคำย่อมาจากคำว่า International Telecommunication Union หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า “สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ” เป็นองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ซึ่ง ITU เป็นองค์กรสากลที่เก่าแก่ที่สุดอันดับสองที่ยังคงดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นองค์การสากลที่เก่าแก่มากที่สุดอันดับสอง ที่ยังคงดำเนินการอยู่ จัดตั้งขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2408 โดยปัจจุบัน มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ใกล้กับสำนักงานสหประชาชาติ
สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ มีหน้าที่สำคัญๆ ดังนี้
- พัฒนามาตรฐานและกฎระเบียบต่างๆ สำหรับการสื่อสารวิทยุและโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (รวมทั้งอินเทอร์เน็ตด้วย)
- การกำหนดแถบคลื่นความถี่วิทยุ และบริหารจัดการ กรณีที่จำเป็นสำหรับการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างประเทศ เช่น บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ
องค์ประกอบของ ITU
สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ จะมีสำนักเลขาธิการใหญ่ ซึ่งมีเลขาธิการเป็นผู้บริหารสูงสุด ในการบริหารจัดการงานรายวันของสหภาพฯ และภาคส่วนต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย 4 ภาคส่วน ในภารกิจด้านต่างๆ ดังนี้
- ภาคการสื่อสารวิทยุ (ITU-R, Radiocommunication Sector) – มีหน้าที่บริหารแถบคลื่นความถี่วิทยุระหว่างประเทศ และทรัพยากรต่างๆ สำหรับการโคจรของดาวเทียม ITU-R
- ภาคการกำหนดมาตรฐานโทรคมนาคม (ITU-T, Telecommunication Standardization Sector) – การกำหนดมาตรฐานโทรคมนาคม เป็นกิจกรรมที่มีมาช้านานของสหภาพฯ และเป็นภารกิจที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ในระดับสากล
- ภาคการพัฒนาโทรคมนาคม (ITU-D, Telecommunication Development Sector) – จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1992 เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสารสนเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศในนานาประเทศ อย่างเท่าเทียม พอเพียง และด้วยค่าใช้จ่ายที่ยอมรับได้
- ภาคการจัดงาน ไอทียู เทเลคอม (ITU TELECOM) – เป็นการจัดงานแสดงสินค้า การประชุม และนิทรรศการระหว่างประเทศ โดยนำเทคโนโลยีชั้นนำ จากอุตสาหกรรมไอซีทีมาจัดแสดง รวมทั้งเชิญรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงาน และผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของประเทศต่างๆ มาร่วมการประชุม เพื่อนำเสนอ และอภิปรายปัญหาการสื่อสารในระดับโลกด้วย
ในส่วนของสมาชิก ITU ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกทั้งหมด 191 ประเทศ และเป็นในนามธุรกิจอุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวน 572 ราย อีกทั้งในรูปแบบของสมาคม 153 แห่ง
ซึ่งตอนนี้มีข้อมูลว่า จะมีการพยายามในการเปลี่ยนแปลงนโยบายอินเทอร์เน็ตเพื่อควบคุมการเข้าถึงในหลายๆ ประเทศ และอาจจะมีค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อด้วย (ประเทศไทยก็มีผลกระทบแน่นอนครับ เพราะเราก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของ ITU เหมือนกัน) กูเกิลเป็นหนึ่งในองค์กรที่ออกมาคัดค้านความพยายามของ ITU ในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต และล่าสุดก็เปิดแคมเปญ Free and Open (แท็ก #freeandopen) เพื่อรวบรวมเสียงจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกแล้วพล็อตเป็นแผนที่ เรียกร้องให้อินเทอร์เน็ตยังเป็นเครือข่ายเสรีสำหรับทุกคนต่อไป
คุณสามารถร่วมลงชื่อและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่ https://www.google.com/takeaction