บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ. ….
หลักการ
เพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย
เหตุผล
เนื่องด้วยมีการยกเลิกพระราชบัญญัติปรามการทำให้แพร่หลายและการค้าวัตถุอันลามก พ.ศ.2471 โดยพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ.2546 จึงทำให้ปัจจุบันไม่มีกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับวัตถุลามก เช่น สื่อที่มีการแสดงกิจกรรมทางเพศ ประกอบกับยังมีสื่อที่ส่งเสริมหรือยั่วยุพฤติกรรมอันตรายอื่น ๆ ที่ร้ายแรงไม่น้อยไปกว่าวัตถุลามก ได้แก่ การใช้ยาเสพติด หรือการฆ่าตัวตาย ซึ่งต้องปราบปรามไปพร้อมกันด้วย ดังนั้น เพื่อให้การปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตรายและวัตถุลามกอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบมาตรา ๓๕ มาตรา ๓๗ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ. ….”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“วัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย” หมายความว่า เอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ เสียง วัสดุบันทึกเสียง วัสดุบันทึกภาพ วัสดุบันทึกข้อมูล เสียงหรือถ้อยคำทางโทรศัพท์ ข้อมูล ข้อความ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะอยู่ในสื่อชนิดใด ที่กระตุ้น ส่งเสริม หรือยั่วยุการกระทำดังต่อไปนี้
(๑) ให้มีการกระทำวิปริตทางเพศ
(๒) ให้มีการกระทำทางเพศกับเด็ก
(๓) ให้มีการฆ่าตัวตาย
(๔) ให้ใช้ยาเสพติด หรือ
(๕) การกระทำอื่นใดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“ข้อมูล” หมายความว่า ภาพ เสียง ข้อความหรือตัวเลข
“การกระทำวิปริตทางเพศ” หมายความว่า การกระทำหรือสื่อที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเพศ ดังต่อไปนี้
(๑) ระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดาน พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือพี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดาเดียวกัน
(๒) โดยใช้ความรุนแรง ถึงขนาดที่น่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกาย
(๓) โดยการบังคับขู่เข็ญหรือข่มขืน
(๔) การร่วมประเวณีระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และรวมถึงการร่วมประเวณีหมู่ด้วย
(๕) ร่วมเพศกับสัตว์หรือชำเราศพ
(๖) ในลักษณะอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และรวมถึงตัวแสดงในวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตรายที่มีลักษณะทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเด็ก
“การฆ่าตัวตาย” หมายความว่า ความต้องการที่จะฆ่าตัวตาย การแสดงขั้นตอนในการฆ่าตัวตาย และการลอกเลียนแบบการฆ่าตัวตายด้วย
“ยาเสพติด” หมายความว่า ยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารระเหยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหย
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการไม่ต่ำกว่าระดับ ๓ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ ผู้ใดทำ ผลิต ทำสำเนา หรือก่อให้มีการทำ การผลิตหรือการทำสำเนาซึ่งวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำโดยมีภาพหรือเสียงของเด็กที่มีอายุต่ำกว่าสิบห้าปี หรือมีลักษณะที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่าสิบห้าปี หรือมีข้อความที่เกี่ยวพันถึงการมีเพศสัมพันธ์ในลักษณะใด ๆ กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่าสิบห้าปี บันทึกหรือปรากฏอยู่ในวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท
ผู้ใดมีไว้ครอบครอง ส่งผ่านหรือยังให้ส่งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อสารสนเทศอย่างอื่นซึ่งวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตรายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ผู้นั้นต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดเว้นแต่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ของการศึกษา การทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ หรือการกระทำที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
มาตรา ๖ ถ้าการกระทำตามมาตรา ๕ เป็นการกระทำเพื่อความประสงค์แห่งการค้าหรือโดยการค้า จำหน่าย มีไว้เพื่อจำหน่าย นำเข้าหรือยังให้นำเข้าในราชอาณาจักร ส่งออกหรือยังให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พาไปหรือยังให้พาไป จ่ายแจก หรือทำให้แพร่หลาย เผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือแสดงอวดแก่ประชาชนไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ ซึ่งวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้กึ่งหนึ่ง
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อเด็กหรือใช้เด็กให้เป็นผู้กระทำความผิด ผู้กระทำต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำที่มีเจตนากระทำต่อเด็กที่มีอายุต่ำกว่าสิบห้าปี หรือใช้ให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นผู้กระทำความผิด ผู้กระทำต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๗ ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา ๕ หรือมาตรา ๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งคนใดคนหนึ่งได้ลงมือกระทำความผิดตามที่ได้สมคบกันไปแล้ว ผู้ร่วมสมคบด้วยกันต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ สำหรับความผิดนั้นอีกกระทงหนึ่งด้วย
ในกรณีที่ความผิดได้กระทำถึงขั้นลงมือกระทำความผิด แต่เนื่องจากการเข้าขัดขวางของผู้สมคบทำให้การกระทำนั้นกระทำไปไม่ตลอดหรือกระทำตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้สมคบที่กระทำการขัดขวางนั้น คงได้รับโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งเท่านั้น
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งกลับใจให้ความจริงแห่งการสมคบต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะมีการกระทำความผิดตามที่ได้สมคบกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือศาลจะไม่ลงโทษเลยก็ได้
มาตรา ๘ ถ้าการกระทำตามมาตรา ๕ และมาตรา ๖ ได้กระทำร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิด หรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา ๙ นิติบุคคลใดกระทำความผิดตามกฎหมายที่ระบุไว้ในมาตรา ๕ หรือมาตรา ๖ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
กรณีตามวรรคหนึ่งให้ถือว่ากรรมการ ผู้จัดการหรือนิติบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย
มาตรา ๑๐ ผู้ใดกระทำความผิดตามกฎหมายที่ระบุไว้ในมาตรา ๕ หรือมาตรา ๖ แม้กระทำนอกราชอาณาจักร ผู้นั้นต้องรับโทษในราชอาณาจักร ถ้าปรากฏว่า
(๑) ผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดคนใดคนหนึ่งเป็นคนไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
(๒) ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าว แต่ได้กระทำโดยประสงค์ให้ความผิดเกิดขึ้นในราชอาณาจักร หรือเป็นความผิดที่รัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย หรือ
(๓) ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าว และการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายของรัฐที่การกระทำเกิดขึ้นในเขตอำนาจของรัฐนั้น หากผู้กระทำความผิดนั้นมาปรากฏตัวอยู่ในราชอาณาจักรและมิได้มีการส่งตัวผู้นั้นออกไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ทั้งนี้ ให้นำมาตรา ๑๐ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๑ บรรดาเงินค่าปรับตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ตกเป็นของกองทุนคุ้มครองเด็กตามกฎหมายคุ้มครองเด็กร้อยละหกสิบ และตกเป็นของกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมตามกฎหมายส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมอีกร้อยละสี่สิบ
มาตรา ๑๒ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๖ ได้กระทำในโรงแรม โรงภาพยนตร์ หรือสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น โดยผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการดังกล่าวรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดนั้น เมื่อได้มีการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดแล้ว ก็ให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายนั้น ๆ มีอำนาจเพิกถอนหรือพักใช้ใบอนุญาต หรือมีคำสั่งอื่นใดตามกฎหมายดังกล่าวด้วยแล้วแต่กรณี
ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ แจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายนั้น ๆ เป็นผู้ดำเนินการเพิกถอนหรือพักใช้ใบอนุญาต หรือมีคำสั่งอื่นใดตามกฎหมายดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๑๓ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๔ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจหรือยึดหรือสั่งอายัดบรรดาวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตรายและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องหรือใช้ในการกระทำความผิดไว้ เพื่อเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้จนกว่าพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องหรือจนกว่าคดีถึงที่สุดแล้ว แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นของผู้กระทำความผิดหรือเป็นของผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่ก็ตาม
ความในวรรคก่อนนี้ให้รวมถึงอำนาจในการสั่งเปิดหีบห่อ พัสดุภัณฑ์ จดหมาย และตู้ไปรษณียภัณฑ์ที่อยู่ในครอบครองของผู้ใดก็ได้ ในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๗ หรือมีวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย หรือมีการค้าซึ่งวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตรายด้วย
มาตรา ๑๕ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในเคหสถาน สถานที่ หรือยานพาหนะใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมายที่ระบุในมาตรา ๕ และมาตรา ๖ เพื่อตรวจค้น ยึด หรืออายัดวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย หรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ วัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตรายหรือพยานหลักฐานดังกล่าวนั้น จะถูกยักย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง บัตรประจำตัวให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๖ บรรดาวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย และทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องหรือใช้ในการกระทำความผิดรวมทั้งทรัพย์สินที่ถูกนำมาใช้เกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๗ ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีคำขอหรือจะมีผู้ลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
มาตรา ๑๗ ทรัพย์สินที่ศาลพิพากษาหรือสั่งให้ริบตามมาตรา ๑๕ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่บรรดาวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตรายหรือทรัพย์สินที่มีไว้แล้วเป็นความผิดในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
มาตรา ๑๘ ในกรณีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องหรือใช้ในการกระทำความผิด หากปรากฏภายหลังตามคำร้องของเจ้าของที่แท้จริง ไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดและไม่มีเหตุอันควรที่จะรู้เช่นนั้นด้วย ก็ให้ศาลคืนทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าของ แต่คำร้องต้องยื่นภายในหนึ่งปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ริบถึงที่สุด
มาตรา ๑๙ เมื่อศาลพิพากษาว่าจำเลยตามพระราชบัญญัตินี้มีความผิด ไม่ว่าจะมีคำร้องขอของพนักงานอัยการหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าผู้นั้นกระทำความผิดโดยอาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพหรือเนื่องจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และเห็นว่าหากผู้นั้นประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นต่อไป อาจจะกระทำผิดเช่นนั้นขึ้นได้อีก ศาลจะสั่งไว้ในคำพิพากษาห้ามประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพนั้นมีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปี นับแต่วันพ้นโทษไปแล้วก็ได้ ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้รอการกำหนดโทษไว้ หรือกำหนดโทษแต่ให้รอการลงโทษไว้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการคุมความประพฤติต่อไปด้วย
มาตรา ๒๐ ให้ถือว่าการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นตามมาตรา ๕ วรรคสาม เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
มาตรา ๒๑ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอรายงานผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ พร้อมเสนอแผนการปฏิบัติงานต่อรัฐสภาเพื่อทราบอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
…………………………………………
นายกรัฐมนตรี
สรุปสาระสำคัญ
ร่าง พ.ร.บ. ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ. ….
จุดมุ่งหมาย : สร้างกฎหมายพิเศษที่มีบทบัญญัติทันสมัย ในการดำเนินการกับวัตถุพิเศษที่มีอิทธิพลต่อผู้เสพ ผู้ใช้ในด้านการยั่วยุ ปลูกฝังพฤติกรรมแห่งความรุนแรงที่ผิดปกตั้งทางเพศ หรือทางอารมณ์ โดยเชื่อมโยงให้เกิดการใช้อำนาจร่วมกันหลายกฎหมาย ทั้งกฎหมายคุ้มครองเด็ก กฎหมายอาญา กฎหมายส่งเสริมสวัสดิการสังคม กฎหมายการไปรษณีย์ กฎหมายการสื่อสารสารสนเทศ กฎหมายสถานบริการ
สาระสำคัญ
1.กำหนดให้สื่อลามกที่ยั่วยุให้เกิดการกระทำวิปริตทางเพศ เช่น ส่งเสริมให้มีการกระทำทางเพศกับเด็ก การมีเพศสัมพันธ์ในครอบครัว การมีเพศสัมพันธ์ในลักษณะวิตถารผิดธรรมชาติ อาทิ เพศสัมพันธ์กับสัตว์หรือกับศพ การรุมโทรม การข่มขืน เป็นวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย
2.กำหนดให้สื่อต่าง ๆ ที่ยั่วยุให้เกิดการฆ่าตัวตาย ยั่วยุเร่งเร้าให้ใช้สารเสพติด เป็นวัตถุยั่วยุพฤติกรรอันตราย
3.กำหนดให้ผู้ครอบครองวัตถุพฤติกรรมอันตรายมีความผิดทางกฎหมาย ซึ่งไม่ขัดกับประมวลกฎหมายอาญา ม.287 ที่ไม่ถือว่าผู้ครอบครองสื่อลามกทั่ว ๆ ไป มีความผิดทางอาญา
4.กำหนดโทษสถานหนัก ทั้งจำและปรับกับผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล มีบทเพิ่มโทษต่อกรณีสมคบกันมากกว่า 2 คน, 3 คนขึ้นไป รวมถึงการใช้เด็กในการกระทำผิด
5.ขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายให้คลุมถึงการกระทำนอกราชอาณาจักรที่มีคนไทยร่วมกระทำ หรือผลิตโดยมุ่งหมายให้วัตถุเหล่านั้นมาเผยแพร่ในประเทศไทย
6.กำหนดให้รัฐต้องพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตสถานบริการ โรงภาพยนตร์ โรงแรม ที่ให้บริการหรือรู้เห็นกับการให้บริการวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตรายในสถานที่ประกอบกิจการ
7.กำหนดให้ความผิดตามกฎหมายพิเศษนี้ ยกเว้น เฉพาะกรณีความผิดฐานมีในครอบครองเป็นความผิดพื้นฐานตามกฎหมายปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งนำไปสู่การการยึดทรัพย์ได้
8.กำหนดให้ค่าปรับตามความผิดในกฎหมายพิเศษนี้ ไม่ตกเป็นรายได้แผ่นดิน แต่ให้ส่งไปเข้ากองทุนคุ้มครองเด็ก ร้อยละ 60 และเข้ากองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ร้อยละ 40
9.กำหนดให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนี้ มีอำนาจเสมือนนายตรวจไปรษณีย์ตามกฎหมายไปรษณีย์ ในการตรวจสอบพัสดุไปรษณีย์ภัณฑ์ ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจะมีวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย หรือมีการค้าวัตถุเช่นว่า
10.กำหนดให้ศาลในคดีความผิดตามกฎหมายพิเศษนี้ ต้องสั่งคุมประพฤติกรรมจำเลยในกรณีจะรอลงอาญา หรือ รอการกำหนดโทษ
11.กำหนดให้ศาลในคดีความผิดตามกฎหมายพิเศษนี้ ต้องพิจารณาห้ามจำเลยประกอบอาชีพใดที่จะเอื้อต่อการกระทำความผิดซ้ำได้ เช่น อาชีพนักแสดง ช่างเทคนิค ช่างภาพ เป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่พ้นโทษ
12.กำหนดให้ครม.ต้องรายงานผล และแสดงแผนในการปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตรายต่อรัฐสภาทุกปี
13.กำหนดให้ความผิดตามกฎหมายพิเศษนี้เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งนำไปสู่การการยึดทรัพย์ได้ ยกเว้นเฉพาะกรณีความผิดฐานมีในครอบครอง (มาตรา 21 )
14.กำหนดให้ คณะรัฐมนตรีต้องรายงานผล และแสดงแผนปฏิบัติงานในการปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตรายต่อรัฐสภาทุกปี (มาตรา 22 )
ผู้ยกร่างและเสนอร่างกฎหมาย : น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา และนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคชาติไทย