หลายคนที่ใช้งานมือถือหรือแทบเล็ตที่ใช้ระบบปฎิบัติการ Android อาจจะเคยได้ยินคำว่า “รูทเครื่อง” (Root) โดยบางคนก็บอกว่ามันจะช่วยให้เครื่องคุณมีประสิทธิภาพมากขึ้น วันนี้มานาคอมพิวเตอร์ขอเอาเรื่องนี้มาเล่าให้คุณฟังกันดูนะครับ
Root คืออะไร?
คำว่า Root นั้นเป็นคำที่มาจากภาษาของคนที่ใช้งาน Linux ทั่วไป (ต้องเข้าใจว่า Andoird เป็นโปรแกรมที่รันอยู่บน Linux อีกทีนึงครับ) ซึ่งความหมายของมันก็คือ Default Super User ครับ หากนึกภาพไม่ออกว่ามันคืออะไร ให้ลองนึกถึงระบบ Windows ที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคยก็แล้วกันนะครับ Super User = Adminstrator นั่นเองครับ
โดย Root เป็น Super User ที่มีสิทธิ์ในการแก้ไขไฟล์ต่างๆ รวมถึงการตั้งค่าระบบต่างๆ ในเครื่องได้ ซึ่ง Android ปกติ จะถูกปิดกั้นความสามารถนี้ครับ
Root เครื่องแล้วจะแรงขึ้น,ดีขึ้น จริงหรือไม่?
หลายคนมีความเชื่อว่า หากเราสามารถ Root (เข้าถึงระดับ Super User ได้) จะทำให้เราสามารถปรับแต่งเครื่องของเราให้เครื่องของเราเร็วขึ้น เสถียรขึ้น หรือเครื่องจะประหยัดแบตขึ้น ซึ่งจริงแล้ว ผมอยากจะให้คุณเข้าใจถึงการ Root จริงแล้วก็คือ
การเปิดสิทธิในการเข้าไปแก้ไฟล์ระบบของเครื่องที่โดยปกติทางผู้ผลิตจะปิดป้องกันไว้เพราะเป็นไฟล์ส่วนที่สำคัญต่อระบบ
โดยเหตุผลของคนที่ต้องการ Rootเครื่อง Android นั้น ก็เพื่อต้องการเข้าไปแก้ไขในส่วนที่เขาป้องกันไว้นั้นเอง เพราะเพื่อคงความ “เสถียร” ของระบบไว้นั้นเอง ซึ่งหากคุณเข้าไปทำการปรับแต่ง แก้ไข ก็อาจจะเกิดความเสี่ยงหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการ Root นั้น ทำให้บางครั้งอาจจะมีผลถึงการรับประกันจากศูนย์เลยก็ได้ครับ ฉะนั้น จงมีเหตุผลในการRootเครื่องก่อนลงมือทำ ถามตัวเองจะเข้าไปในส่วนของไฟล์ระบบเพื่ออะไรครับ
Root แบบไหนที่น่าจะเป็นประโยชน์กับเรา
มีหลายกรณีครับที่เราจะได้รับประโยชน์จากการ Root เพื่อให้เครื่องของเรามีประสิทธิภาพมากขี้นโดยไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงมากจนเกินไปครับ เช่น
- เพื่อการเปลี่ยนไปใช้ Custom ROM เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถของเครื่อง ซึ่งอันนี้เป็นเหตุผลหลักๆ ของการ Root เครื่องของคนส่วนใหญ่เลยครับ
- เพื่อการ Overclock CPU ซึ่งการปรับค่าซีพียูให้สูงขึ้นนั้น ส่วนใหญ่ทำเพื่อเพิ่มตัวเลขในการให้คะแนนโปรแกรมประเภททดสอบประสิทธิภาพซีพียู ซึ่งพอเอามาใช้งานจริงๆ แทบไม่ต่างจากซีพียูปกติเท่าไหร่ครับ อันนี้เอาไว้ทำเอามัน แต่ไม่ค่อยอยากแนะนำครับ
- เพื่อการแชร์ไฟล์แบบ NFS ( Network File Sharing ) ซึ่งการแชร์ไฟล์แบบนี้จะเหมือนกันการแชร์ไฟล์ด้วย Wireless ระหว่าง Windows ด้วยกันครับ
- เพื่อการ Fake Legion บน Android Market ซึ่งแอพบางตัวใน Google Play Store จะล็อกไว้สำหรับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ทำให้เราไม่สามารถโหลดแอพนั้นได้ หากเราทำการ Root แล้วเราก็ใช้แอพจำพวก Market Enabler ครับ
- เพื่อเอาไว้บล็อคการเชื่อมอินเตอร์เน็ตเป็นรายแอพไป เช่นโปรแกรมแชทบางตัวมีการรับส่งข้อมูลอยู่ตลอดเวลา เราก็ทำการปิดการเชื่อมต่อเฉพาะแอพแชทนั้นๆ ครับ
- เพื่อการเปลี่ยน Font ให้หลากหลายและสวยงามขึ้น
- เพื่อการเปลี่ยน Boot Animation,เปลี่ยนรูปแบตเตอรี่ สำหรับคนขึ้นเบื่อ, การเปลี่ยนรูปแบตเตอรี่
เพราะฉะนั้นก่อนที่คุณจะ Root เครื่อง คุณต้องมองดูก่อนนะครับว่า เครื่องที่คุณใช้ปกติดีอยู่หรือเปล่า (ซึ่งโดยส่วนใหญ่นั้นมักจะไม่ค่อยมีปัญหา) และ ต้องการ Root ไปเพื่ออะไร เพราะการปรับแต่งด้วยการ Root เครื่อง มีความเสี่ยงไม่น้อยเลยครับ ส่วนผมก็ใช้แบบเดิมๆ ไปนี่แหละครับ 🙂
ทั้งนี้การ Root อย่างไรก็ยังมีผลเสียอยู่ เช่น เครื่องพัง, ประกันหมด (เอากลับมาได้ด้วยการ Flash ROM ใหม่) ถ้าคิดจะ Root แล้วเจ้าของเครื่องก็ต้องรับความเสี่ยงกันเอาเองนะครับ