สรุปข่าวไอทีประจำวัน (22 มกราคม 2555)


สรุปข่าวไอทีที่น่าสนใจประจำวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2555 ครับ

 

มัจจุราชเงียบ! เมื่อเสพติดสังคมออนไลน์ !!!

กระแส “Social Networking” ฟีเวอร์ ทำให้คนกรุงเทพฯ ซิวตำแหน่งเล่น Facebook อันดับ 5 ของโลกมาครอง ท่ามกลางสายตาของคนทั่วโลกที่ร่วมเป็นพยาน แม้วันนี้ บนโลกไฮเทคทำให้ทุกอย่างเล็กลงทันตา แต่ขณะเดียวกันกลับสร้างระยะห่างระหว่างความสัมพันธ์ของคนมากขึ้น เมื่อใดที่พฤติกรรมคุณเข้าใกล้อาการเสพติดเทคโนโลยีแล้ว สมองจะถูกแทนที่ด้วยโปรแกรม Chat BB, MSN, What’s App, Facebook, Twitter, Hi5, Google+ และสารพัด Applications ใช้ชีวิตอยู่กับการอัป โหลด แชร์กันจนภาษาวิบัติ และทำซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นเป็นประจำ แต่เชื่อหรือไม่ว่าปัญหาเหล่านี้ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกต่อไป…

“Facebook” ฟีเวอร์ กรุงเทพฯ ติดอันดับ 5ของโลก

โลกยุคการสื่อสารไร้พรมแดน ทำให้ผู้คนมากมายฝังตัวเองอยู่ในระบบ Social Network แบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ด้วยความจำเป็นต้องใช้ทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว สถานะความเป็นจริงบนโลกออนไลน์นั้นไม่มีอะไรคงที่ ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตาม Content ที่เกิดขึ้นมาและก็หายไป แต่รู้ไหมว่า Content นี่แหละ! เป็นตัวขุดสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ต้องการอยากรู้อยากเห็นไปซะทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

“Facebook” จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนความอยากรู้อยากเห็นของคนทั้งโลก และดูเหมือนว่า Mark Zuckerberg รู้ใจกลุ่มลูกค้าของตัวเองเป็นอย่างดี ซึ่งเห็นได้จากยอดตัวเลขผู้ใช้ที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จากการรายงานของ Thailand Facebook Statistics – Socialbakersในปี 2554 ทำให้เห็นสถิติสาวก Facebook ทั่วโลกที่ตอนนี้มีจำนวน 800 ล้านคนแล้ว

ถ้ามาดูกันอย่างละเอียด ขณะนี้ทั่วโลกมีจำนวนผู้ใช้งาน Facebook ถึง 800 ล้านคน (ที่กล่าวไว้ข้างต้น) โดย 50% มีการใช้งานในแต่ละวัน มีจำนวนเพื่อนเฉลี่ยต่อคน 130 คน สำหรับกิจกรรมที่คนสนใจคือ pages, groups, event และ community pages ซึ่งมีการใช้งานถึง 70 ภาษา และจำนวน 75% เป็นคนนอกประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนกลุ่มสาวก Facebook คนไทย จากสถิติจะเห็นได้ว่าตอนนี้มีผู้ใช้งานกว่า 13 ล้านคน ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 16 ของโลก และที่น่าสนใจคือกรุงเทพมหานครของเราติดอันดับเมืองที่มีคนใช้ Facebook มากที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 5 ทั้งยังมีแนวโน้มจะขยับอันดับลดลงมาเรื่อยๆ

ที่น่าสังเกต คือคนทั่วโลกใช้ Facebook ผ่านโทรศัพท์มือถือ 350 ล้านคนเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีตัวนี้จึงเข้ามาสนับสนุนความต้องการเข้าถึงโลกออนไลน์โดยไม่มีขอบเขต โทรศัพท์ไร้สายอย่างมือถือจึงเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งที่ผู้ผลิตโทรศัพท์แต่ละค่าย พยายามทำสินค้าของตัวเองออกมาสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ยุค Smart Phone ที่มี Applications ครบเครื่อง จึงเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว และเมื่อมีผู้ใช้ Social Network เป็นจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่จะเกิดปัญหาขึ้นได้

“มือถือ” อวัยวะที่ขาดไม่ได้

เชื่อเลยว่าในอนาคตไม่ว่าคุณจะหยิบจับอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีชนิดใด ทุกคนจะเห็นสัญลักษณ์เป็นรูปอักษรตัว F และตัว T ที่หมายถึง Facebook และ Twitter ก็เป็นได้ อย่างที่บอกไว้ความรวดเร็วเพื่อการใช้งานในทุกๆ ที่เป็นเป้าหมายสำคัญในการเข้าถึงโลก Social Network ซึ่งมาเป็นตัวสนับสนุนให้คนสมัยนี้รู้สึกว่า “โทรศัพท์มือถือ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ ราวกับว่าเป็นอวัยวะที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อร่างกาย ขาดไปคงต้องตาย…”

คงจำกันได้เมื่อช่วงเปลี่ยนผ่านปีใหม่ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สัญญาณ Dtac ล่มติดต่อกัน 3 ครั้ง ทำให้หลายคนไม่เป็นอันกินอันนอน ติดต่อใครไม่ได้ โลกเสมือนจริงถูกตัดขาดอย่างฉับพลัน แทบใกล้ลงแดงตายไปทีละน้อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป หลังจากที่มีชีวิตอยู่แบบติดๆ ดับๆ เป็นช่วงๆ Dtacได้กลับมาต่อลมหายใจให้อีกครั้ง วันนั้นทุกคนกระจ่างเลยว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่โทรศัพท์มือถือ แต่เป็นสัญญาณเครือข่ายที่เชื่อมต่อกับมือถือต่างหาก ทันใดที่ไม่มีสัญญาณก็เหมือนกับว่าได้ตายไปจากโลก และทำให้เจ้าอุปกรณ์สี่เหลี่ยมชนิดนี้ดูไร้ค่าไปในทันที

ไปไหนไปด้วย…มือถือในโลกยุคนี้ที่ทุกคนมี โดยเฉพาะมือถือยี่ห้อดัง อย่าง BlackBerry หรือ BB อุปกรณ์สื่อสารที่ทรงอิทธิพล ก่อนที่ iPhone กำลังเข้ามาแทรกแซง ซึ่งวัยรุ่นวัยเรียนนิยมใช้แชตคุยกัน แชตจนไม่เงยหน้ามองทาง และไม่แยแสผู้คนรอบข้างที่เดินผ่านไปมา จะเดินชนใครก็ไม่ได้สนใจ สนใจแค่เครื่องสี่เหลี่ยมที่อยู่ในมือเท่านั้น ไม่ว่าจะทำอะไรต้องมีอุปกรณ์ชนิดนี้ร่วมเดินทางไปด้วยเสมอ เดินก็แชต กินก็แชต ขึ้นรถลงเรือก็แชต ใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์อย่างสมบูรณ์แบบ

เมื่อคิดว่าโทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ 5 และเปรียบเสมือนอวัยวะที่ขาดไม่ได้ จึงแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุด เวลานี้จึงเป็นโอกาสของ iPhone อุปกรณ์ไร้สายที่คนทั่วโลกยอมรับ ซึ่งสร้างขึ้นมารองรับคนวัยทำงานอย่างแท้จริง และเริ่มมีอิทธิพลต่อเด็กนักเรียน นักศึกษาบ้านเรามากขึ้น สังเกตได้จากยอดจอง iPhone 4s รุ่นล่าสุดภายในประเทศไทยเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา มีทั้งสาวกแอปเปิลเก่าและใหม่เข้าจอง iPhone 4s ทั้ง 3 เครือข่ายหลักในประเทศอย่างถล่มทลาย

จากผลสำรวจของ Effective Measure เรื่องการใช้อุปกรณ์ไร้สายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำเดือนตุลาคม 2554 ประกอบด้วย ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ทำให้เราทราบว่าผู้บริโภคในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบันใช้สินค้าแบรนด์แอปเปิลสูงมากถึง 53.1% และถ้าขยายสัดส่วนของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจากอุปกรณ์ไร้สายออกมาเป็นแต่ละประเทศ ไทยใช้อุปกรณ์ไร้สายแบรนด์แอปเปิลในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต สูงถึง 79.6% จากผู้ใช้อุปกรณ์ไร้สายทั้งหมดในประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก และเชื่อได้ว่าจะสามารถขยายตัวได้อีก

พอคิดถึงกระแส Social Networking ที่กำลังแทรกซึมสู่เราโดยไม่รู้ตัว ทำให้นึกถึงเพลงๆ หนึ่งที่ชื่อว่า “ระบายเฉยๆ” ซึ่งสามารถสะท้อนสังคมโลกในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี จึงขอตัดทอนเนื้อเพลงบางส่วนมาฝากให้คิด และขอบอกก่อนเลยว่าเพลงนี้โทรศัพท์มือถือ (iPhone) ไม่ได้ผิด แค่เจ้าของเพลง (Room 39) อยากระบายเฉยๆ

เธอก้มหน้าอมยิ้มและหัวเราะตลอดเวลา

ไม่ว่าเรานั้นจะไปใกล้ไกลแค่ไหน?

เดี๋ยวซ้ายกด เดี๋ยวขวากด และยังไม่พอยังไม่หมด

ต้องถ่ายรูปก่อนกินอาหารทุกครั้งไป…

ฉันก็ได้แต่รอ แต่รอ รอเธอนั้นเงยหน้า

เพื่อเพียงจะได้สบตาและได้สื่อสารกันบ้าง…

ทำไมต้อง iPhone หลายคนอาจสงสัย เรามาฟังความเห็นของสาวกผู้คลั่งไคล้แอปเปิลเป็นชีวิตจิตใจเลยดีกว่า ชาวเว็บพันทิปบอกให้ฟังว่า “มันไม่ได้ดีที่สุด แต่มันลงตัวกับผม ขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กกำลังเหมาะมือ รูปร่างหน้าตาดีไซน์สมส่วนเป็นแบบที่ชอบ รองรับความต้องการได้ทุกอย่างที่ผมต้องการใช้ กลุ่มเพื่อนส่วนใหญ่ใช้อยู่ก็คุยกัน มีปัญหาปรึกษากันได้ นอกจากใช้งานแล้วมันยังเป็นเหมือนเครื่องประดับสวยๆ ชิ้นนึง”

“เราก็ใช้นะคะ iPhone 4 เนี่ย…นี่คุณแฟนก็กำลังจะซื้อ iPhone 4s อ่ะ…จริงๆ แล้ว มันใช้ร่วมกัน สร้างกิจกรรมให้ได้นะคะ ไม่ว่าจะเป็น App Line หรือ What’s Appช่วยให้ติดต่อกันได้ทั้งวัน คิดถึงก็ถ่ายรูป หรือไม่ก็ Tango Facetime หากันก็ได้ค่ะ อยากให้มองในแง่ดี และเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้คุ้มค่า”

กับดักเทคโนโลยี

Application ที่หลากหลาย ล่อใจให้ชวนเข้าไปท่องโลก Social Network อาจโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม แต่พอมารู้ตัวอีกทีก็ติดมันอย่างจั๋งหนับ แบบว่าสายตาไม่ละออกจากหน้าจอ ส่วนมือก็ติดอยู่กับปุ่มกดหรือคีย์บอร์ดอย่างเหนียวแน่นราวกับติดกาวเอาไว้ สุดท้ายจึงกลายเป็นอีกคนหนึ่งที่เข้ามาติดกับดักเทคโนโลยีเสียแล้ว

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า อินเทอร์เน็ต จริงๆ แล้วมันมีข้อดีที่เยอะมาก สามารถใช้ในการติดต่อกัน การสื่อสารสังคม เปิดโลกความรู้ให้กว้างขึ้น แต่ปัญหามันจะเกิดถ้าใช้งานไม่เป็นและใช้ไม่ถูก อย่างการพูดคุยกับคนในอินเตอร์เน็ต เราไม่รู้จักเลยว่าคนที่เราคุยอยู่ด้วยนี่เป็นใคร เขาเป็นคนยังไง เป็นคนดีอย่างที่เราคิดหรือเข้าใจรึเปล่า จึงเกิดการหลอกลวงกันได้ง่าย

การโดนหลอกจากการไว้เนื้อเชื่อใจคนในโลกออนไลน์ มีตัวอย่างให้เห็นมานักต่อนักไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือแม้แต่คนมีการศึกษาสูงก็ตาม คนที่ไม่ระวังตัวย่อมไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมคนที่คิดจะหลอก จึงเกิดเป็นปัญหาสังคมตามมา อย่างน้อยๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับคนที่มัวแต่หมกมุ่นมากเกินพอดี เวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นจะทำให้สมาธิให้การทำกิจกรรมต่างๆ นั้นแย่ลง เพราะคิดแต่อยากไปแซต เล่น Facebook ไปคอย up status อยู่ตลอดเวลา สุดท้ายก็เกิดเป็นปัญหาบานปลายวนเวียนเป็นวัฏจักรซ้ำรอยเดิมไม่ต่างกันอยู่ดี

“โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน การอยากมีเพื่อน อยากจะได้รับการยอมรับของกลุ่ม อย่างพวกเฟซบุ๊ก หรือโปรแกรมต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เขาเปิดโอกาสตัวเองและได้รับการยอมรับหรือสนับสนุนจากคนอื่นมากขึ้น ฉะนั้นการเล่น BB หรือ What’s App สำหรับตัวเด็กเองอาจคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพ่อแม่ควรให้เขาเห็นว่าการที่ต้องการมีจุดยืนในสังคมสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ใช่วิธีนี้วิธีเดียว และวิธีที่ดีที่สุดคือผู้ปกครองควรให้คำแนะนำแก่เด็ก ต้องชี้ประโยชน์และโทษของมันให้เขาเห็น”

นอกจากนี้การชิตแชตในโลกออนไลน์ยังเกิดปัญหาเรื่องการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้อง และระบาดอย่างรวดเร็ว กลายเป็นเทรนฮิตคิดคำใหม่ๆ มาใช้ แต่ตั้งใจเขียนไม่ถูก จนเกิดความเคยชินและคุ้นเคยกับการเขียนผิดมาตลอด หรือที่เรียกกันว่า “ภาษาวิบัติ”

ดร.กาญจนา นาคสกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ราชบัณฑิตยสถาน กล่าวเตือนว่า ถ้าเขียนผิดหลัก โดยเฉพาะคำควบกล้ำ การเขียนวรรณยุกต์ที่ผิดเพี้ยนไป สุดท้ายมันก็จะเกิดการเขียนผิดๆ เป็นผลเสียกับตัวเราเอง ถ้าสะกดอย่างหนึ่งแล้วเขียนอีกอย่างหนึ่งต่อไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดการจำไปเขียนอย่างผิดๆ ฉะนั้นออกเสียงอย่างไรต้องเขียนให้ตรงตามนั้นจะดีกว่า

“ไม่ว่าจะเป็นการเขียนจมหมายด้วยกระดาษและการส่งอีเมล์ ทั้งสองมันเป็นการสื่อสารได้ทั้งหมด แต่ที่สำคัญเมื่อเราสื่อสารแล้ว ตัวอักษรนั้นมีคุณค่า มีลักษณะ มีกฎเกณฑ์ที่เราใช้มาแต่โบราณ เราควรยึดกฎเกณฑ์ของเราไว้ อย่าให้เสียไปโดยที่ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรเลย และถ้าไม่มีหลักเกณฑ์ต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็จะอ่านหนังสือไทยไม่ออก จนกลายเป็นภาษาวิบัติไปในที่สุด”

ถ้าเคยสังเกตจะเห็นว่า iPad ของ Steve Jobs มีขนาดเท่ากระดานชนวนของคนไทยสมัยโบราณ กระดานชนวนมีไว้เพื่อจดบันทึกข้อความแทนสมุดที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบันนี้ เมื่อวิวัฒนาการของโลกเปลี่ยนไป จากกระดานชนวน กลายเป็น iPad แปลกตรงที่ขนาดเท่ากันเป๊ะ! หรือว่าที่จริงแล้ว คนไทยพบขนาดที่จะใช้ได้อย่างเหมาะมือก่อนเกิด iPad เสียอีก (ช่างน่าคิดจริงๆ)

ไว้อาลัย…คนไทยยุคโลกาภิวัฒน์

ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราใช้เทคโนโลยีเป็นปัจจัยที่ 5 ไปเสียแล้วนอกจากปัจจัย 4 ที่จำเป็น ซึ่งในสังคมไทยไม่เฉพาะผู้ใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีสำหรับการทำงานเท่านั้น ขณะเดียวกันวัยรุ่นวัยเรียนไม่สามารถแยกส่วนออกจากเทคโนโลยีได้เช่นกัน เทคโนโลยีมันเป็นตัวเสริมซึ่งเกิดขึ้นมาในทศวรรษนี้ และทุกคนได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนโยบายภาครัฐก็ออกมาอย่างชัดเจนที่จะให้เด็กไทยใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการศึกษาในอนาคต

ถึงอย่างไรแล้วอย่างที่บอกไว้เทคโนโลยีไม่ได้เอื้อประโยชน์เพียงด้านเดียว ซึ่งแนวโน้มในอนาคตข้างหน้าอาจจะพอเดาได้ว่าโลกหลังยุคโลกาภิวัฒน์ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และผู้คนต้องปรับตัวเพื่อให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน

ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ขณะที่เรานำเทคโนโลยีเข้ามา เราขาดการเตรียมพร้อมรับมือกับมันในการที่จะใช้ ต้องรู้จัก Do & Don’t การเลือกปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติสิ่งที่เข้ามา คือทุกอย่างมันมีเหรียญสองด้าน เทคโนโลยีเราขาดในเรื่องความรู้ความเข้าใจ ถ้าผู้ใหญ่บางครอบครัวยังกลัวเทคโนโลยี ไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีแล้วให้เด็กเรียนรู้เอง มันจึงเกิดเป็นช่องว่าง

“เมื่อคนใส่ Content มากมายลงไปทั้งเกม โปรแกรมแชต เว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม การอัพโหลด ดาวน์โหลดสิ่งที่ไม่ควร เราไม่สามารถป้องกันได้หมด เพราะมันไม่มีกุญแจปิด พ่อแม่ก็ทำไม่เป็นว่าจะทำยังไงไม่ให้เด็กเข้าไป และยิ่งบางครอบครัวซ้ำเติมเข้าไปอีกที่ว่าพ่อแม่ไม่มีเวลาให้เขา ต้องออกไปทำงานอยู่ในโลกทุนนิยม จึงออกไปหาเงินอย่างเดียวเพื่อซื้อของเข้าบ้าน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ”

“มันเป็นระหว่างรอยต่อของคนเก่าและคนใหม่ เชื่อว่าเด็กสมัยนี้ต่อไปอีกสัก 10 ปีข้างหน้า พ่อแม่เขาจะรู้เท่าทันลูกแล้ว เพราะเด็กสมัยนี้ใช้เทคโนโลยี อนาคตเขาจะบอกลูกต่อไปได้ว่าสิ่งไหนดี ไม่ดี แต่ตอนนี้คนที่อายุ 50 ปีขึ้นไปไม่มีทางรู้ทันลูกวัยรุ่นเลย ฉะนั้นอนาคตข้างหน้าจึงมีแนวโน้มว่าปัญหาการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กและลดลง เพราะคนเริ่มเรียนรู้และหาทางออกเจอ อีกอย่างหนึ่งเทคโนโลยีทำขึ้นมาเพื่อประโยชน์ ถ้ารู้จักการใช้มัน โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ มัน All in 1 ทั้งพูดคุยได้ ถ่ายรูปได้ เล่นอินเทอร์เน็ตได้ แค่โทรศัพท์อันเดียวสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย”

Social Media อย่าง Facebook อาจทำให้คนเสื่อมเสียได้ในชั่วพริบตา แต่ใช่ว่ามันไม่สร้างประโยชน์มหาศาลอย่างที่ผ่านมาเรื่องน้ำท่วม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Facebook ช่วยได้มาก ซึ่งเป็นการใช้ Social Network ให้เกิดพลังสามัคคี พอเห็นข่าวอะไรใน Facebook คนจะคอยติดตามและไปช่วยในทันที โลกเสมือนจริงมันไม่ต่างอะไรจากโลกแห่งความเป็นจริง ถ้าเราใช้อย่างถูกทาง

การเข้าไปในโลก Social Network จึงเหมือนการเลือกคบคน อาจต้องเจอทั้งเรื่องดีและไม่ดี ให้กลับนำมาคิด พิจารณา และบอกกับตัวเองว่าเราจะเรียนรู้จากมันได้อย่างไร ที่สำคัญคือต้องรู้จักใช้อย่าง “พอเพียง” จะได้เกิดความพอดี แล้วจะรู้สึก “พอใจ” กับการใช้ชีวิตเพื่อประโยชน์ในโลกออนไลน์

 

“RIM” ทุ่มทุนรุกตลาดไทย พร้อมหั่นราคา Play Book  

RIM โวปีนี้ลงทุนในไทยสูงสุดตั้งแต่เข้ามาวางจำหน่าย แพลนเปิดสำนักงานในไทยกลางปีนี้ เน้นขยายตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น พร้อมโล๊ะสต็อกเพลย์บุ๊กหั่นราคาเหลือ 9,990 บาท ยังมั่นใจในไลน์สินค้าที่ตอบโจทย์ทุกกลุ่มผู้บริโภค

นิโคลัส ฮอร์ตัน รองประธานบริหาร ประจำภูมิภาคอินโดจีน รีเสิร์ช อิน โมชั่น หรือ RIM กล่าวว่า ผลประกอบการในปีที่ผ่านมาของ Black Berry ในประเทศไทย ถือว่ายังมีอัตราการเติบโตเป็นอันดับต้นๆของบริษัท และถ้านับรวมในภูมิภาคเอเชียก็ถือเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูงเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ริมหันมาโฟกัสตลาดในเอเชียมากขึ้น

“เดิม RIM เน้นทำตลาดในกลุ่มลูกค้าพรีเมียมในกรุงเทพฯเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเมื่อมีระบบปฏิบัติการ และผู้ผลิตเข้ามาในตลาด Smart Phone มากขึ้น ริม จึงหันมาให้ความสนใจกับตลาดแมสมากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าไปในต่างจังหวัดมากขึ้น”

แม้ว่าจะไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขการลงทุนในประเทศไทยได้ แต่ทางผู้บริหาร RIM ยืนยันว่า การทุ่มทุนเพื่อเปิดสำนักงาน และขยายช่องทางจำหน่ายไปยังตลาดต่างจังหวัดในปีนี้ ถือเป็นการลงทุนที่สูงที่สุดตั้งแต่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย และเชื่อว่าผู้บริโภคยังตอบรับกับผลิตภัณฑ์ ในด้านการเชื่อมต่อการใช้งานเข้ากับไลฟ์สไตล์

ในส่วนของจำนวนผู้ใช้งาน Black Berry ในไทย ด้วยข้อกำหนดของบริษัทแม่ ทำให้ไม่สามารถให้ข้อมูลเป็นตัวเลขได้ แต่นิโคลัส ให้ข้อมูลเปรียบว่า ลูกค้าที่ใช้แบล็กเบอรีในประเทศไทยเมื่อจับมือแล้วยืนต่อกัน สามารถยืนต่อจากกรุงเทพฯไปถึงเชียงใหม่ และกลับมากรุงเทพฯได้

ล่าสุด RIM ประกาศวางจำหน่าย Black Berry Curve 9380 สมาร์ทโฟนหน้าจอทัชสกรีน ที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Black Berry 7 ภายในงานไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป 2012 ในช่วงวันที่ 26 − 29 มกราคมนี้ ก่อนที่จะเริ่มทยอยจำหน่ายทั่วประเทศในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยลูกค้าที่ซื้อ Curve 9380 จะได้รับการบันเดิล ภาพยนตร์ LXD 2 ภาค ซึ่งยังไม่เคยฉายในประเทศไทยมาก่อน กำหนดราคาเปิดตัวไว้ที่ 10,900 บาท

ขณะเดียวกันยังมีการประกาศปรับราคา Black Berry Play Book แท็บเล็ตขนาดหน้าจอ 7 นิ้ว ที่เริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปีที่่ผ่านมาในราคาเริ่มต้น 16GB ที่ 9,900 บาท และมีโปรโมชันพิเศษสำหรับลูกค้าที่ซื้อ Smart Phone Black Berry ในงานราคาต่ำกว่า13,000 บาท รับสิทธิซื้อ Play Book 32GB ในราคา 9,900 บาท ส่วนลูกค้าที่ซื้อเครื่องราคาสูงกว่า 13,000 บาท ได้รับสิทธิซื้อ Play Book 64GB ในราคาเดียวกัน

 

‘ไอซีที’ เปิดศูนย์ ICT ชุมชน และ e-library ใต้ทางด่วนสุขุมวิท

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังพิธีเปิด ”ศูนย์ชุมชนสร้างสรรค์” ใต้ทางด่วนบริเวณ ถ.สุขุมวิท (เพลินจิต) ว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มีดำริเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ พ.ศ. 2555 ให้พัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนสุขุมวิท (เพลินจิต) เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน สตรี และครอบครัว กระทรวงฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของนโยบายดังกล่าว ซึ่งมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน จึงได้ร่วมมือกับภาคี ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และการทางพิเศษแห่งประเทศ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน โดยการจัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนในพื้นที่ใต้ทางด่วนเพลินจิตขึ้น

“กระทรวงฯ และภาคีจากภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์ เพื่อให้เป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้แก่เด็ก เยาวชน สตรี และครอบครัว โดยกระทรวงฯ ได้สนับสนุนอุปกรณ์ในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ที่ประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย 1 ชุด เครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลทั่วไป 12 ชุด เครื่องพิมพ์ ระบบเครือข่าย อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง คู่สายโทรศัพท์ และอินเทอร์ข่ายไร้สาย (WiFi) จำนวน 4 จุด นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งโปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ ที่สามารถให้บริการสืบค้นและให้บริการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมในเรื่องต่างๆ รวมถึงด้านการส่งเสริมสุขภาวะ โดยใช้เนื้อหาของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย และสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้ ICT เป็นสื่อให้แก่ เยาวชน และชุมชน” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนแห่งนี้ เป็นศูนย์ลำดับที่ 1,880 ภายใต้ “โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน” ของกระทรวงฯซึ่งได้วางเป้าหมายการจัดตั้งเอาไว้ในบริเวณชุมชน โรงเรียน และศาสนสถาน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลาย และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแก่เด็ก เยาวชน รวมถึงประชาชนในชุมชน ให้สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนนี้ กระทรวงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประชาชน รวมถึงส่งเสริมให้มีการพัฒนาสังคมอย่างเท่าเทียม ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในด้านต่างๆ ของชุมชน รวมทั้งการเข้าถึงบริการภาครัฐ (e-Services) และการแลกเปลี่ยนความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ระหว่างชุมชนได้โดยทั่วกัน