สรุปข่าวไอทีที่น่าสนใจประจำวันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2555 ครับ
Major เข็น “เว็บหนังตัวอย่าง” หวังดึงคนออนไลน์ดูหนังโรง !!!
“Major Cineplex” ดำเนินธุรกิจภายใต้รูปแบบ Total Entertainment Lifestyle ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Out of Home Entertainment ที่ต้องต่อสู้ในการแย่งชิงเวลาผู้คนรุ่นใหม่ ที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ ด้วยสามารถเลือกเสพ ดิจิทัล คอนเทนท์ หลากหลาย เพื่อก้าวออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านและเสพความบันเทิงหน้าจอภาพยนตร์มากขึ้น
วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) บอกว่าในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็วจากเทคโนโลยี เพื่อให้เมเจอร์ฯ ยังเป็นผู้นำ Trend Setter ในธุรกิจโรงภาพยนตร์ หัวใจหลักของการบริหารของทุกองค์กร จำเป็นต้องวาง Growth Platform ให้กับธุรกิจในแต่ละปี ท่ามกลางปัจจัยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ส่งผลต่อธุรกิจ
“ปีนี้ที่เราเห็นธุรกิจมีการเติบโต คำถามต่อมาคือ แล้วปีหน้าหรือปีต่อไป จะเติบโตอย่างไร ถือเป็นหน้าที่และทักษะการบริหารของซีอีโอที่ดี ที่จะต้องมองหาแพลตฟอร์มการเติบโตให้ธุรกิจอย่างยืนยาวและต่อเนื่อง”
ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา เมเจอร์ฯ ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมความบันเทิงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าเห็นว่า “การดูหนังนอกบ้าน” แตกต่างจากการดูหนังในบ้าน ด้วยการสร้าง Movie Experience ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละยุค เริ่มตั้งแต่เทคโนโลยีด้านโรงภาพยนตร์ ทั้งโรง 3มิติ ไอแม็กซ์ ,4DX Theater โรงภาพยนตร์ดิจิทัล 4 มิติ แห่งแรกของประเทศไทย ,โรงภาพยนตร์ดิจิทัล Real D รวมทั้งการพัฒนาบริการใหม่ให้เป็น ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ อย่างเช่น อินิกมา (Enigma) โรงภาพยนตร์สไตล์คลับแห่งแรกของโลก รวมทั้ง มูฟวี่ สปา เพื่อสร้างความรู้สึกให้ลูกค้าเห็นว่า “การมาโรงหนัง เป็นมากกว่าการดูหนัง”
เปิดเว็บ majortrailers.com
ในโลกยุคดิจิทัลกลยุทธ์การสร้างแพลตฟอร์มการเติบโตของเมเจอร์ฯ ที่จะเห็นในช่วงต้นปี 2555 คือการทำให้ผู้ชมเห็นภาพยนตร์ตัวอย่าง (trailer) มากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าออกมาใช้บริการโรงภาพยนตร์มากขึ้น เพิ่มเติมจากการตอบโจทย์ การดูหนังง่ายขึ้น ด้วยการขยายสาขาใหม่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และการซื้อตั๋วง่ายขึ้น ผ่านระบบออนไลน์ หรือ E-ticketing Mobile ticketing Facebook Ticketing และ แอพพลิเคชั่น ที่เมเจอร์ฯ ได้ดำเนินการครบทุกช่องทางในยุคดิจิทัลแล้ว
การจะทำให้ลูกค้าเห็นหนังตัวอย่างมากขึ้น เมเจอร์ฯ จะพัฒนาเว็บไซต์ www.majortrailers.com รวบรวมหนังตัวอย่างของทุกค่าย ทุกสตูดิโอ ทั้งไทยและต่างประเทศที่มีกำหนดออกฉายมานำเสนอทั้งปี ด้วยความยาวไม่น้อยกว่า 5 นาที มาไว้ในเว็บไซต์ ซึ่งยังไม่มีเว็บไซต์ใดรวบรวมในรูปแบบนี้มาก่อน จะมีเพียงเว็บไซต์ของค่ายสตูดิโอต่างๆ ที่นำเสนอหนังตัวอย่างของค่ายตัวเอง แต่ majortrailers.com จะเสนอหนังตัวอย่างของทุกค่ายและผู้สร้างภาพยนตร์ตลอดทั้งปี เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมเป็นผู้วิ่งเข้ามาหาหนังและโรงหนังเอง เช่นเดียวกับพฤติกรรมการเข้าไปเสิร์ช หาข้อมูลในGoogle ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในยุคนี้
“เชื่อว่าเมื่อคนเห็นหนังตัวอย่างที่ชอบ ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดๆ ที่เป็นปัจจัยลบ คนก็จะออกจากบ้านมาดูหนังที่โรงภาพยนตร์ หนังตัวอย่างเปรียบได้กับการขายสินค้า ที่ผู้ชมสามารถเลือกดูได้ก่อนจ่ายเงินซื้อตั๋ว อีกทั้งยังช่วยสร้างกระแสบอกต่อ (word of mouth) กระตุ้นให้ผู้อื่นสนใจดูหนังอีกด้วย” วิชา กล่าว
หลังจากเปิดตัว majortrailers.com ในต้นปีหน้าแล้ว จะพัฒนาต่อเนื่องในรูปแบบแอพพลิเคชั่น ใช้งานผ่านสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้ชมสามารถเลือกชมภาพยนตร์ตัวอย่างได้ทุกที ทุกเวลา นอกจากนี้ majortrailers.com จะตอบโจทย์เรื่องการโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล ที่ทำได้อย่างไม่จำกัดเวลา โดยไม่ต้องวิ่งตามลงโฆษณาหนังเฉพาะในโรงภาพยนตร์ ที่มีพื้นที่และเวลาจำกัด เพียงอย่างเดียว
เร่งขยายโรงดิจิทัล
เขาย้ำว่าตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีในฐานะผู้นำธุรกิจ “ไลฟ์สไตล์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์” เมเจอร์ฯได้ตอบโจทย์ “ดิจิทัล ไลฟ์” ทุกฟอร์แมทแล้ว เชื่อว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะก้าวสู่ยุค Totally Digital ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยโรงหนังจะต้องเป็นผู้นำเทรนด์ดิจิทัลต่างๆ มาให้ผู้ชมได้ใช้บริการ ตัวอย่างการให้บริการ E-ticketing ที่สะดวกสบาย ไม่ต้องเข้าแถวรอซื้อตั๋วที่หน้าบ็อกซ์ ออฟฟิศ พบว่าโรงภาพยนตร์บางสาขาที่เจาะกลุ่มคนเมือง อย่าง พารากอน ซีนีเพล็กซ์ หรือ เอสพลานาด รัชดาภิเษก มียอดขายตั๋วผ่านอีทิคเก็ต กว่า 40% แล้ว เชื่อว่าเป็นการใช้บริการ ที่ลูกค้าจะมีความสุขกว่าการเข้าแถวรอซื้อตั๋วแน่นอน
“ดิจิทัล ไลฟ์จะเข้ามาตอบโจทย์ผู้บริโภคด้านความสะดวกและรวดเร็ว ขณะที่ผู้ประกอบการเองจะมีต้นทุนต่ำและสามารถบริการต้นทุนได้ดีกว่าอุตสาหกรรมในยุคก๊อบปี้ฟิล์ม”
เชื่อว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ใน 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนการขายตั๋วกว่า 50% จะซื้อผ่านช่องทางดิจิทัล และบางสาขาอาจจะ 100% เช่นเดียวกับพฤติกรรมการจองตั๋วเครื่องบิน และการจองโรงแรม ที่มียอดจองผ่านออนไลน์ในสัดส่วนสูงกว่าช่องทางอื่นๆ เพราะตอบโจทย์ด้านความสะดวกสบาย
ภายในสิ้นปีนี้เมเจอร์ฯ จะมีโรงหนังดิจิทัลเพิ่มเป็น 150 โรง จากทั้งหมด 380 โรง และปี 2555 จะเพิ่มเป็น 200 โรง และใน 5 ปีข้างหน้าจะมีสัดส่วนโรงดิจิทัล 80% ของโรงหนังทั้งหมดในเครือเมเจอร์ เชื่อว่าในช่วงดังกล่าวหนังฮอลลีวู้ดจะผลิตในรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมหนังต่างชาติประหยัดต้นทุนการก๊อบปี้ฟิล์มได้ กว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี และมีคุณภาพดีขึ้น นับเป็นอีกปัจจัยสำคัญกระตุ้นการเติบโตอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ในไทย
10 Trend ในมุมมอง Guru IT ระดับโลก สิ่งที่ต้องติดตามคือ “ข้อมูลมหึมา” !!!
ปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของ Social Media จาก Twitter และ Facebook รวมถึงปริมาณการใช้อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ กำลังนำไปสู่การเกิดข้อมูลต่างๆ ในระดับโลกอย่างมหาศาล ที่เรียกว่า “Big Data”
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ในปี 2563 ข้อมูลจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ถึง 42 เท่าและภายใน 3 ปีต่อจากนั้น คาดว่าทั่วโลกจะมีแอปพลิเคชั่นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 1 พันล้านแอปพลิเคชั่น
“Big Data” กำลังกลายเป็นปัญหาขององค์กรเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ที่ต้องรับมือกับการขยายตัวที่รวดเร็วของข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของอีเมล วิดีโอ รูปภาพ
อีเอ็มซี คอร์ปอเรชั่น มีบทวิเคราะห์ถึง Big Data ในปี 2555 จะสร้างความตื่นเต้นต่อเนื่อง พร้อมมองว่าความท้าทายที่แท้จริงของ Big Data ขณะนี้ก็คือการสร้างสภาพแวดล้อมแบบครบวงจรสำหรับองค์กรต่างๆ ที่ขับเคลื่อนจากการเก็บข้อมูลแบบเดิมไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญที่มีอยู่
การรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถึงขนาดที่ประเทศสิงคโปร์ รัฐบาลได้เริ่มโครงการต่างๆ อาทิ โปรเจค จี-คลาวด์ (G-Cloud project) และระบบเครือข่ายความเร็วสูงแห่งชาติยุคใหม่ (Next Generation Nationwide Broadband Network) ซึ่งจะใช้ระบบคลาวด์ คอมพิวติ้งในการขับเคลื่อน เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้น
10 เทรนด์ปี 2012
ฮิว โยชิดะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (ซีทีโอ) บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ ได้นำเสนอมุมมองของเขา ซึ่งมักจะมองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องและแม่นยำภายใต้การวิเคราะห์ที่เชื่อถือได้ต่อแนวโน้ม 10 อันดับแรกที่จะเกิดขึ้นกับระบบจัดเก็บข้อมูลในปี 2555 ว่า
1. ความมีประสิทธิภาพของระบบจัดเก็บข้อมูล (Storage efficiency) : ความไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีต้องทำให้ได้รับผลตอบแทนมากขึ้นจากสินทรัพย์เดิมที่มีอยู่ แทนที่จะต้องซื้อสินทรัพย์เข้ามาใหม่ โดยจะให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของระบบจัดเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้น เช่น ระบบจัดเก็บข้อมูลเสมือนจริง (storage virtualization) การจัดสรรพื้นที่แบบจำกัดตามการใช้งานจริง (dynamic or thin provisioning) การจัดเก็บข้อมูลตามระดับชั้นความสำคัญข้อมูลตามใช้งานจริง (dynamic tiering) และการจัดเก็บข้อมูลถาวร (archiving)
2. การผสานรวมระบบเข้าด้วยกัน (Consolidation to convergence) : การรวมระบบเข้าด้วยกันจะนำไปสู่แนวทางการผสานรวมที่ครอบคลุม โดยจะเห็นได้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดไอทีได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการรวมระบบและัคุณสมบัติที่มีประโยชน์ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับการผสานรวมเซิร์ฟเวอร์ ระบบจัดเก็บข้อมูล เครือข่าย และแอปพลิเคชั่น เข้าไว้ด้วยกัน โดยอาศัยแอปพลิเคชั่นโปรแกรมมิ่งอินเตอร์เฟซ (Application programming interfaces (APIs)) จะช่วยกำจัดภาระงาน (workload) ให้กับระบบจัดเก็บข้อมูล ทำให้เซิร์ฟเวอร์และหน่วยความจำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ซอฟต์แวร์การจัดระเบียบจะช่วยในการผสานรวมการจัดการและทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปโดยอัตโนมัติ ตลอดจนสามารถจัดทำรายงานระหว่างโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย ระบบจัดเก็บข้อมูล รวมถึงเซิร์ฟเวอร์แบบเฉพาะที่ แบบระยะไกล และแบบคลาวด์ได้
3. การบริหารระบบที่เข้าถึงได้อย่างชัดเจน (Transparency) : แอปพลิเคชั่นและโครงสร้างพื้นฐานจะสามารถเข้าถึงระหว่างกันได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การผสานรวมผ่านอินเตอร์เฟซแบบเปิด เช่น API, ไคลเอนต์/ตัวให้บริการ และปลั๊กอินเป็นเรื่องง่าย โดยฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ ได้นำเสนอ Hitachi Command Director ที่ให้มุมมองระดับบริการ การใช้ประโยชน์ และสภาพของโครงสร้างพื้นฐานระบบจัดเก็บข้อมูลที่อยู่เบื้องหลังระบบจัดเก็บข้อมูลเสมือนที่พวกเขากำลังใช้งานอยู่ได้อย่างชัดเจน
4. ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบศูนย์ประมวลผล (Storage computerization) : ระบบจัดเก็บข้อมูลจะต้องเปลี่ยนเป็นระบบจัดเก็บข้อมูลแบบศูนย์ประมวลในตัวเอง เนื่องจากมีการเพิ่มฟังก์ชั่นมากมายให้กับระบบดังกล่าว สถาปัตยกรรมระบบจัดเก็บข้อมูลดั้งเดิมที่มีคอนโทรลเลอร์สำหรับวัตถุประสงค์ทั่วไปซึ่งรองรับฟังก์ชั่นใหม่ทั้งหมดนี้พร้อมรองรับภาระงานอินพุต/เอาต์พุต แบบปกติจะไม่สามารถปรับขยายได้อีก ดังนั้น สถาปัตยกรรมระบบจัดเก็บข้อมูลแบบใหม่ที่มีแหล่งรวมของตัวประมวลผลในตัวเองที่ถูกแยกออกมาจะเป็นที่ต้องการอย่างมากเพื่อนำมาใช้ในการจัดการฟังก์ชั่นเพิ่มเติมดังกล่าว
5. ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) : ในปี 2555 ข้อมูลจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็น “ข้อมูลขนาดมหึมา” (Big Data) เนื่องจากการเพิ่มจำนวนอย่างมหาศาลของข้อมูลแบบ Unstructured Data และแอปพลิเคชั่นบนชุดอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ ซึ่งหากสามารถจัดการและเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะก่อให้เกิดโอกาสอย่างมากมายสำหรับการสร้างมูลค่าทางธุรกิจ ข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน และข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม การนำชุดข้อมูลขนาดใหญ่ไปใช้ในการทำซ้ำ สำรองข้อมูล การทำข้อมูลผ่านทางเครื่องมือแบบดั้งเดิมอาจไม่สามารถบรรลุผลตามที่ต้องการได้ จะเห็นได้ว่าข้อมูลขนาดใหญ่สามารถนำไปสู่สารสนเทศที่เป็นประโยชน์ได้ ดังนั้น ในปี 2555 จะมีการนำแพลตฟอร์มเกี่ยวกับเนื้อหาเข้ามาใช้ในการจัดเตรียมการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้น
6. การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy efficiency) : พลังงาน ระบบทำความเย็น และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ หรือร่องรอยคาร์บอน (Carbon footprint) จะกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อความต้องการด้านพลังงานเพิ่มสูงขึ้น และประเทศต่างๆ เริ่มบังคับใช้ภาษีคาร์บอน โดยฝ่ายไอทีจะต้องเข้ามามีส่วนในการรับภาระด้านพลังงานนี้ด้วย
7. บริการกำหนดรูปแบบเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Ergonomic services) : ช่องว่างระหว่างการใช้เทคโนโลยีและการดำเนินการของฝ่ายไอทีจะกลายเป็นสิ่งสำคัญเมื่อองค์กรธุรกิจต้องการผลักดันให้ฝ่ายไอทีปรับใช้เทคโนโลยีให้รวดเร็วยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถสร้างประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมได้เพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดความต้องการในด้านบริการเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อช่วยลดภาระงานที่พนักงานไอทีต้องดำเนินการและช่วยเร่งการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้งาน
8. การปรับขยายระบบจัดเก็บข้อมูล (Storage scaling) : องค์กรต้องการระบบเซิร์ฟเวอร์และเดสก์ทอปเสมือนจริงเพิ่มขึ้นเพื่อปรับขยายระบบจัดเก็บข้อมูลไม่ให้เกิดการกระจัดกระจายเนื่องจากความต้องการเซิร์ฟเวอร์ที่เพิ่มขึ้น ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบโมดูลจะต้องได้รับการแทนที่ด้วยระบบจัดเก็บข้อมูลองค์กรที่สามารถตอบสนองภารกิจสำคัญของเซิร์ฟเวอร์เสมือนจริงได้ ขณะเดียวกันสถาปัตยกรรมระบบจัดเก็บข้อมูลแบบสเกล-เอาต์ (scale-out) จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านการปรับขยายแบบ สเกล-อัพ (scale-up) ของระบบเซิร์ฟเวอร์และเดสก์ทอปเสมือนจริงได้
9. การย้ายข้อมูลแบบเสมือน (Virtualized migration) : การย้ายข้อมูลของอุปกรณ์แบบต้องหยุดระบบจะถูกแทนที่ด้วยความสามารถใหม่ของระบบเสมือนจริงที่การย้ายข้อมูลไม่จำเป็นต้องรีบูตระบบใหม่
10. การปรับใช้ระบบคลาวด์ (Cloud acquisition) : การปรับใช้ระบบคลาวด์ ทั้งในแบบบริการตนเอง แบบจ่ายเท่าที่ใช้งาน และตามความต้องการ ได้เริ่มเข้ามาแทนที่วงจรการปรับใช้ผลิตภัณฑ์ปัจจุบันที่มีระยะเวลาระหว่าง 3-5 ปี เนื่องจากการผสานรวมเริ่มที่จะสร้างแหล่งรวมทรัพยากรแบบผสมผสานขึ้นมา