วันนี้มีข่าวเกี่ยวกับเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ข่าวหนึ่งที่น่าสนใจ อยากจะนำมาเผยแพร่ให้หลายๆ ท่านที่อาจจะต้องเดินทางไปต่างประเทศได้ระมัดระวังตัวไว้นะครับ
เมื่อ วันที่ 18 สิงหาคม 2556 ได้มีการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก และไลน์เกี่ยวกับการที่มีคนไทยเดินทางไปสหรัฐอเมริกาและจะเดินทางกลับมายัง กรุงเทพมหานคร โดยระหว่างรอขึ้นเครื่องบินที่สนามบินนั้นได้มีการเปิดไอแพด และนั่งดูหนังที่โหลดจากยูทูบ
ซึ่งขณะที่กำลังดูอยู่ ได้ถูกเจ้าหน้าที่จับและถูกจำคุกนานประมาณ 6 เดือน ทำให้ภรรยาที่อยู่ในประเทศไทยต้องส่งทนายไปประกันตัว และเพิ่งประกันตัวได้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา และถูกเรียกค่าประกันตัวประมาณ 1 ล้านบาท
มุมมองของทางมานาคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับเรื่องนี้
แม้ว่า ณ ตอนนี้ ยังมิได้มีการยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นความจริงหรือไม่ แต่ก็มีความเป็นไปได้ครับ เพราะต่างประเทศจะซีเรียสเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นอย่างมาก
ส่วนกรณีการดาวน์โหลดไฟล์วีดีโอจากเว็บไซต์ Youtube.com ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่แล้วครับ ทาง Youtube อนุญาตให้คุณเพียงแค่เปิดดูได้ แต่ห้ามดาวน์โหลดเก็บไว้ในตัวเครื่องครับ (เนื่องจากทางมานาคอมพิวเตอร์ก็เคยโดนเดือนเรื่องการแนะนำโปรแกรมดาวน์โหลดวีดีโอจาก Youtube ครับ) จึงเห็นด้วยกับเรื่องนี้ครับ
และถ้ากรณีนี้เกิดในประเทศไทย ก็มีข้อกฎหมายระบุถึงความผิดนี้เหมือนกันครับนั่นคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ระบุไว้ชัดเจนว่า
“ผู้ที่เปิดให้มีการโหลดภาพยนตร์ หรือไฟล์ต่างๆ ที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ผ่านทางเว็บไซต์หรือโปรแกรมต่างๆ ทั้งที่เป็นของตนเองและผู้อื่น เจ้าของเว็บไซต์ผู้ที่ปล่อยให้มีการดาวน์โหลด ผู้นำภาพยนตร์หรือไฟล์นั้นๆ มาเผยแพร่ และผู้ที่กระทำการดาวน์โหลด จะเข้าข่ายเป็นผู้ที่กระทำความผิดทันที
แต่ทั้งนี้การที่เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายจะดำเนินการกับผู้ที่กระทำความผิดได้ จะต้องเกิดจากการร้องเรียนของผู้ที่เสียหายเท่านั้น”
เพียงแค่ว่าในบ้านเรายังไม่มีผู้เสียหายโดยตรงร้องเรียนครับ
เพราะฉะนั้นเดินทางไปต่างประเทศ โปรดระมัดระวังเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษด้วยนะครับ (อ้อ กรณีนี้รวมไปถึงพวกใช้ของแบรนด์เนมปลอมด้วยนะครับ)